วันอังคารที่ 27 ตุลาคม พ.ศ. 2558

"เปรตแบกแผ่นดิน" วิบากกรรม คนที่ชอบโกง

เปรตแบกแผ่นดินที่มีไฟลุกโชนตลอดเวลา ร้อนระอุ วางก็ไม่ได้ ต้องแบกจนกว่าจะหมดกรรม





พระพุทธเจ้าตรัสว่า “เปรตเหล่านั้นในชาติก่อนอันไกลโพ้น เป็นญาติสนิทกับมหาบพิตร ได้ร่วมกันทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์หมู่ใหญ่ พวกเขาได้ตระเตรียมข้าวปลาอาหารไว้มากมายเพื่อถวายแก่พระสงฆ์ ขณะที่พระสงฆ์ยังไม่มา บางคนก็เกิดความหิว จึงหยิบอาหารที่เตรียมไว้ถวายพระกินก่อน ด้วยบาปกรรมอันนี้ พวกเขาจึงเกิดเป็นเปรตประเภท “ปรทัตตูปชีวี” ต้องอาศัยอาหารที่คนอื่นอุทิศให้ยังชีพ บังเอิญว่าที่แล้วมา ไม่เคยมีใครอุทิศส่วนบุญให้พวกเขาเลย จึงหิวโหยผอมโซอย่างที่เห็นนั้นแหละ”
พระเจ้าพิมพิสารจึงทำบุญถวายภัตตาหารแก่พระสงฆ์อันมีพระพุทธเจ้าเป็นประมุขอีกครั้ง แล้วตั้งใจอุทิศส่วนกุศลให้พวกอดีตญาติๆ ทั้งหลายเหล่านั้น เปรตพวกนั้นได้รับส่วนบุญที่พระเจ้าพิมพิสารทรงอุทิศไปให้ ต่างมีหน้าสดชื่นเบิกบาน ตกดึกคืนหนึ่งจึงพากันมาขอบคุณพระเจ้าพิมพิสารกล่าวอนุโมทนาในบุญกุศลที่พระองค์ทรงบำเพ็ญแล้วก็หายวับในทันใด
นี้คือที่มาแห่งการทำบุญกรวดน้ำในพระพุทธศาสนา 
ถามอีกว่า การกรวดน้ำนี้ เคยมีมาไหม คือก่อนเกิดพระพุทธศาสนา เคยมีการทำอะไรคล้าย ๆ นี้ไหม ตอบอีกว่าเคยครับ เท่าที่ทราบมีมานานแล้ว คงจะเป็นวิธีปฏิบัติของคนอินเดียโบราณ
ดังในพระเวสสันดรชาดก ตอนพระเวสสันดรให้พระนางมัทรี พระชายาเป็นทานแก่พราหมณ์แปลง (พระอินทร์แปลงเป็นพราหมณ์มาขอ) ทันที่จะตัดสินใจมอบให้ พระเวสสันดรก็หยิบคนโทน้ำหลั่งลงในมือของพราหมณ์ เป็นสัญลักษณ์ว่ามอบให้เด็ดขาด
สรุปว่าการกระทำมีการรินน้ำคล้ายกัน แต่จุดมุ่งหมายแห่งการกระทำไม่เหมือนกัน จะว่าการกรวดน้ำมีรากฐานมาจากการรินน้ำหลังจากให้สิ่งของเป็นทานแท้ ๆ คงพูดไม่ได้

เปรตท้องโต ตอนมีชีวิตคอรัปชั่น กินหินปูนทราย เงินทองบนโต๊ะใต้โต๊ะ ในท้องมีแต่หินปูนทรายหนักมาก ๆ


ทีนี้มาพูดถึงเรื่องเปรต คำว่า “เปรต” ภาษาบาลีเขียน เปต แปลตามตัวว่า “ผู้ล่วงลับไปแล้ว” คือผู้ที่ตายแล้ว ใช้เป็นคำกลาง ๆ หมายถึงคนที่ตายไปแล้ว ไม่ว่าตายดี ตายไม่ดี ไม่ว่าคนดี คนชั่ว เมื่อตายแล้ว และผลบาปทำให้เกิดเป็นเปรต ก็เรียกว่า “เปรต” เหมือนกันหมด แต่เปรตมีทั้งหมด 12 ตระกูล แต่มีเพียง 1 ตระกูลเท่านั้นที่รับผลบุญที่อุทิศให้ได้ อีก 11 ตระกูลยังรับไม่ได้
ปรทัตตูปชีวี เปรตที่ต้องอาศัยผลบุญที่มีคนอุทิศให้ ไม่มีปัญญาหากินเอง ถึงจะพยายามหาอาหารกินก็คงไม่ได้ เพราะผลกรรมบันดาลให้เขาต้องอดอยากปากหมอง ทุกข์ทรมาน พวกนี้ถึงอยากกินก็ไม่ได้กิน เพราะฉะนั้นท่านจึงมีสัญลักษณ์ให้รู้ว่า มีปากเท่ารู้เข็ม มีพุงโตเหมือนภูเขา คืออยากมาก แต่กินไม่ได้เพราะปากมันเล็ก
ถามว่า คนทำบาปกรรมอะไรจึงมาเกิดเป็นเปรต พระคัมภีร์กล่าวไว้หลายประเภท คนที่ยักยอกเอาของสงฆ์ตายไปก็เกิดเป็นเปรต ผู้ดูแลเงินทองของวัด แรกๆ ก็คงไม่คิดอะไร พอนานเข้าก็โลภอยากได้ แพ้ต่อมโนธรรมของตนก็ยักยอกเอามาเป็นของตนเสีย ตายไปไม่แคล้วเป็นเปรต หรือแม้กระทั่งการรุกหรือการแย่งที่ดินของคนอื่น ที่ไม่ใช่ของตน ทำให้ผู้อื่นเดือดร้อน ก็อาจจะได้ไปเกิดเป็นเปรตแบกแผ่นดินที่มีไฟลุกร้อนท่วมอยู่ยาวนาน ทุกข์ทรมาน ก็ได้
มีเรื่องจริงเขาเล่าให้ผมฟังนานแล้ว เจ้าหน้าที่วัดแห่งหนึ่ง เอาเงินวัดไปเข้าแบงก์กินดอกเบี้ย เงินยังอยู่แต่ดอกเบี้ยได้เท่าไรแกเอามาเป็นของตัวหมด อยู่มาวันหนึ่งแกป่วยหนักด้วยโรคประหลาด คือขี้ไหลตลอด กินอะไรลงไปก็ไหลออกหมด จนกระทั่งตาย ก่อนตายแกเพ้อคล้ายสั่งลูกหลานว่า “ใช้ดอกเบี้ย ๆ” แล้วก็สิ้นลม
ลูกหลานก็ไม่ทราบว่าแกสั่งลาอะไร ดอกเบี้ยอะไร พอสมภารท่านทราบ ท่านก็ไม่ว่าอะไร สั่งให้ลูกหลานทำสังฆทาน สั่งให้ใส่ปัจจัย (เงิน) เท่าจำนวนที่ท่านคิดว่าเป็นดอกเบี้ยธนาคารที่แกเอาไป โดยที่ลูกหลานไม่ทราบ
อ้างอิงจาก : ข้อความเรียบเรียงโดย อ.เสถียรพงษ์ วรรณปก
ขอบคุณภาพจาก www.dmc.tv / www.Dek-Dee.com